ข้อมูล (Data)
หมายถึง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือข้อมูลดิบที่ยังไม่ผ่านการประมวลผล ซึ่งข้อมูลอาจจะเป็นตัวเลข ตัวอักษร สัญลักษณ์ รูปภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหวก็ได้
ประเภทของข้อมูล
ข้อมูลสามารถแบ่งได้หลายลักษณะขึ้นกับว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการแบ่ง เช่น
ก.แบ่งตามแหล่งที่มา ได้เป็น 2 ประเภท
1.ข้อมูลปฐมภูมิ ( Primary Data)คือข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดที่ผู้เก็บข้อมูลลงมือเก็บด้วยตนเองได้มา จากแหล่งกำเนิดที่แท้จริง เช่น ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การสังเกต การทดลอง การทดสอบหรือการวัดจากกลุ่มตัวอย่างโดยตรง
2.ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) คือข้อเท็จจริง หรือรายละเอียดที่ผู้อื่นรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ สามารถนำมาเป็นข้อมูล โดยไม่ต้องลงมือเก็บรวบรวมเอง เช่น ข้อมูลจากระเบียนสะสม รายงานประจำปี สารานุกรม เอกสารเผยแพร่ เป็นต้น
ข้อมูลปฐมภูมิ
ข้อมูลทุติยภูมิ
ข.แบ่งตามลักษณะของข้อมูล
1.ข้อมูลเชิงปริมาณ ( Quantitative Data) คือข้อมูลที่วัดออกมาเป็นตัวเลข เช่นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาต่าง ๆ ความถนัดด้านต่าง ๆ ที่วัดออกมาเป็นคะแนน คุณลักษณะด้านจิตพิสัย เช่นความสนใจ ความวิตกกังวล คุณลักษณะทางกายเช่น ส่วนสูง ความเร็วในการวิ่ง
2.ข้อมูลเชิงคุณลักษณะหรือเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) คือข้อมูลที่ไม่ได้วัดออกมาเป็นตัวเลขแต่จะแสดงถึงคุณลักษณะของสิ่งนั้น เช่น เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ ศาสนา สถานภาพสมรส อาชีพ ข้อความที่เป็นความคิดเห็น ผลการสังเกตที่เขียนในรูปบรรยาย
ค.แบ่งตามสภาพของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มตัวอย่าง ได้ 3 ประเภทดังนี้
1.ข้อมูลส่วนบุคคล ( Personal Data) คือข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่าง เช่น ชื่อสกุล อายุ เพศ อาชีพ ศาสนา เป็นต้น
2.ข้อมูลสิ่งแวดล้อม ( Environmental Data) คือข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มตัวอย่าง เช่น ลักษณะท้องถิ่นที่กลุ่มตัวอย่างอาศัย
3.ข้อมูลพฤติกรรม ( Behavioral Data) คือข้อมูลที่เป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในตัวของกลุ่มตัวอย่าง เช่น คุณลักษณะด้านความสามารถสมอง ได้แก่ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ หรือการเรียน เช่น ความรู้ความเข้าใจ การวิเคราะห์ ความถนัด สติปัญญา ความสนใจ ความวิตกกังวล แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ มโนภาพเกี่ยวกับตนเอง การปฏิบัติ การกระทำสิ่งต่าง ๆ
ง.แบ่งตามการนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ได้ มี 5 ประเภท คือ
1. ข้อมูลตัวเลข (Numeric Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นจำนวนตัวเลข สามารถนำไปคำนวณได้ เช่นจำนวนเงินเดือนราคาสินค้า
2. ข้อมูลตัวอักษร (Text Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นตัวอักษร และสัญลักษณ์เช่น ชื่อ สกุล ที่อยู่
3. ข้อมูลเสียง (Audio Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงดนตรี เสียงพูด
4. ข้อมูลภาพ (Images Data) คือ ข้อมูลที่เป็นจุดสีต่าง ๆเมื่อนำมาเรียงต่อกันแล้วเกิดรูปภาพขึ้น เช่น ภาพถ่าย ภาพลายเส้น เป็นต้น
5. ข้อมูลภาพเคลื่อนไหว (Video Data) ได้แก่ ข้อมูลที่เป็นภาพเคลื่อนไหวต่าง เช่น ภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายด้วยกล้องวิดีโอ หรือภาพที่ทำจากโปรแกรมต่างๆ เป็นต้น
การรวบรวมข้อมูลมีหลายวิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งข้อมูลและแหล่งข้อมูลเป็นสิ่งที่กำหนดวิธีการรวบรวมข้อมูล เพื่อให้เก็บข้อมูลได้ตรงตามความต้องการ
1. การสัมภาษณ์ (interview)
เป็นการสัมภาษณ์โดยตรงหรืออาจใช้ช่องทางสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ Line , Facebook ผู้เก็บข้อมูลต้องใช้คำถามที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์นักเรียนให้ห้องเรียนเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อครูประจำชั้น เป็นต้น
2. การสำรวจ (survey)
คือการกำหนดคำถามเพื่อค้นหาข้อมูล หรือความต้องการ เรียกว่าแบบสำรวจ เช่น การสำรวจความพึงพอใจในการใช้ห้องสมุดของนักเรียนโรงเรียนเพียงหลวง ๑ (บ้านท่าตอน)ฯ
3. การสังเกต (observe)
คือการรวบรวมข้อมูลจากการเฝ้าดู เหตุการณ์ หรือพฤติกรรม เช่น การสังเกตการแบ่งตัวของเซล์พืช
4. การทดลอง (experiment)
เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการทดลอง หรือทดสอบ เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ต้องการ เช่นการทดลองปลูกถั่วงอกโดยใช้กระดาษชำระ
5. การทบทวนเอกสาร (document/literature review)
คือการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายงาน บทความ หนังสือ ตำรา งานวิจัย หรือแบบฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูล เช่น รายงานผลการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
6. การสำมะโน (census)
คือการสำรวจประชากร เช่น การสำรวจประชาการในตำบลท่าตอน
หลักการรวบรวมข้อมูล
ความถูกต้อง (accuracy)
ข้อมูลต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่ครบ จะทำให้นำไปประมวลผลไม่ได้เลย เช่น ข้อมูลคะแนนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งถ้าข้อมูลไม่ถูกต้อง เราก็ไม่สามารถคำนวณเกรดเฉลี่ยของนักเรียนได้ เป็นต้น
2. ความทันสมัย/เป็นปัจจุบัน (timeliness)
ความทันสมัย หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าข้อมูลล้าสมัย เราก็จะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและนำมาประมวลผลไม่ได้ เช่นข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของนักเรียน ซึ่งต้องเป็นปัจจุบันและมีการอัพเดทเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
3. ความเกี่ยวข้อง/ตรงตามความต้องการ (relevance)
ข้อมูลต้องมีความเกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตรงตามความต้องการ เช่น เมื่อเราต้องการจเดินทางโดยเครื่องบินไปเที่ยวกรุงเทพ เราก็ต้องหาข้อมูลที่เกี่ยวกับ เครื่องบินที่จะเดินทาง และข้อมูลที่เกี่ยวกับกรุงเทพ เป็นต้น
การเก็บข้อมูลด้วยวิธีต่างๆ ต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลตามวิธีการเก็บข้อมูล เช่น แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบสังเกต ในปัจจุบันอาจใช้ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ หรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว อาจมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น เครื่องบันทึกภาพหรือเสียง เครื่องอ่านบาร์โค้ด โทรศัพท์ เป็นต้น ทั้งนี้การรวบรวมข้อมูลต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อความน่าเชื่อถือ และเป็นมารยาทหรือแสดงความขอบคุณต่อแหล่งข้อมูลด้วย
1. แบบสำรวจรายการ (Checklist) เป็นรายการที่กำหนดไว้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ต้องการให้กระทำ หรือวิธีการที่มีจุดประสงค์ว่าจะให้ทำตามนั้น การใช้แบบสำรวจเป็นการกำหนดเป็นน้ำหนักคะแนนว่า ได้ หรือ ไม่ได้ ถ้าผ่านหรือได้แสดงว่าผู้ปฏิบัติได้กระทำตามรายการนั้นถูกต้อง แต่ถ้า ไม่ได้ ก็แสดงว่าทำไม่ถูกต้องดังตัวอย่าง
จุดประสงค์ : ปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้ห้องคอมพิวเตอร์
คำชี้แจง จงทำเครื่องหมาย / ลงในช่องที่เหมาะสมทางด้านขวามือ
2. มาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) มีลักษณะคล้ายแบบสำรวจรายการ แต่กำหนดระดับคะแนนให้แก่รายการตามความคิดเห็นของผู้สังเกตว่ารายการนั้นๆ ผู้ถูกสังเกตมีค่าตามข้อความหรือรายการนั้นอยู่ในระดับใด มาตราส่วนประมาณค่าใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผลผลิต และวิธีการปฏิบัติงานรวมไปถึงการวัดทางบุคลิกภาพ
มาตราส่วนประมาณค่ามีหลายรูปแบบดังนี้
2.1 กำหนดเป็นตัวเลข ตัวอย่างเช่น
2.2 เปรียบเทียบแบบมาตราส่วนประมาณค่า ตัวอย่าง เช่น
แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
2.3 การจัดอันดับ ดังตัวอย่างในแบบสอบถามข้างต้น
3. บัตรคะแนน (Score Card) ดังตัวอย่าง เช่น
4. การบันทึกเรื่องราว(Anecdotal record) ดังตัวอย่าง เช่น
แบบสอบถามเป็นชุดของข้อความหรือข้อคำถามที่สร้างขึ้นมาเพื่อสอบถามความคิดเห็น ความต้องการ ความสนใจ เจตคติ ของผู้ตอบที่มีต่อสิ่งที่ผู้สร้างต้องการทราบ
รูปแบบของแบบสอบถาม
แบบสอบถามมีรูปแบบที่นิยมใช้ 3 แบบ คือ
1. แบบสอบถามชนิดปลายเปิด (Open Form) เป็นแบบสอบถามที่ไม่ได้กำหนดคำตอบไว้ ผู้ตอบจะตอบคำถามตามความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เช่น ทำไมท่านจึงเลือกเรียนที่สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตชุมพร ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อครูผู้สอน เป็นต้น
2. แบบสอบถามชนิดปลายปิด (Close Form) เป็นแบบสอบถามที่จำกัดคำตอบให้ผู้ตอบเลือกคำตอบตามแบบที่กำหนดให้เท่านั้น แบบสอบถามชนิดปลายปิด แบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้
2.1 แบบสำรวจรายการ(Check List) แบบสอบถามชนิดนี้ต้องการทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากผู้ตอบ โดยไม่มีการประเมินระดับของความรู้สึก หรือข้อเท็จจริงนั้น ต้องการให้ตอบแต่เพียงว่า มี - ไม่มี เห็นด้วย - ไม่เห็นด้วย เชื่อ - ไม่เชื่อ ใช่ - ไม่ใช่ เช่น
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพรเป็นสถานที่น่าเรียน ( )ใช่ ( ) ไม่ใช่
เรียนที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพรแล้วภูมิใจ ( ) เห็นด้วย ( ) ไม่เห็นด้วย
2.2 แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) แบบสอบถามชนิดนี้มีลักษณะคำถามคล้ายกับแบบสำรวจรายการ แต่เปลี่ยนแปลงลักษณะการตอบให้มีมากระดับขึ้น โดยผู้ตอบต้องประเมินว่าตนมีคุณลักษณะนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด ระดับของการประเมินจะมีกี่ระดับ ขึ้นอยู่กับผู้วัดว่าจะต้องการผลละเอียดเพียงใด ที่นิยมใช้กันมากมี 3 หรือ 5 ระดับ เช่น
3. แบบจัดอันดับความสำคัญ แบบสอบถามชนิดนี้ต้องการให้ผู้ตอบจัดเรียงอันดับความสำคัญของข้อคำถามตามความรู้สึกของผู้ตอบ เช่น
ท่านมีความต้องการอุปกรณ์การเรียนการสอนในโรงเรียน ในเรื่องใดมาก (โปรดเรียงอันดับตามความต้องการ)
รายการความต้องการ อันดับความต้องการ
1. เครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ ……………………
2. สไลด์ ……………………
3. เครื่องฉายภาพทึบแสง ……………………
4. ปากกาเขียนแผ่นใส ……………………
5. ลูกฟุตบอล ……………………
6. ลูกวอลเลย์บอล ……………………
7. ลูกขนไก่ ……………………
8. ลูกเทนนิส ……………………
9. ลูกตะกร้อ ……………………
10. อื่น ๆ (โปรดระบุ) ……………………
ใบปัจจุบัน Google ได้มี Application ในการสร้างเครื่องมือเก็บข้อมูล (แบบสอบถาม) ออนไลน์ เรียกว่า Google Form ซึ่งสามารถส่งลิ้งค์ไปให้กับผู้ที่เราต้องการเก็บข้อมูลได้ เมื่อมีการกรอกข้อมูลแล้วข้อมูลก็จะถูกบันทึกไว้บนระบบคลาวด์ ใน Google Drive
การประมวลผล (Processing)
หมายถึง กระบวนการคิด หรือ การจัดระเบียบแบบแผนของข้อมูล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ซึ่งทำได้โดยการคำนวณ เคลื่อนย้ายข้อมูล การจัดเรียง การเปรียบเทียบ และการวิเคราะห์ข้อมูล หรืออาจใช้สูตร ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สามารถแบ่งลักษณะการประมวลผลได้ ดังนี้
1.การประมวลผลด้วยมือ ใช้กระดาษ ปากกา และแรงคนในการดำเนินการ
2.การประมวลผลด้วยเครื่องมือ ใช้เครื่องมือช่วยทุ่นเเรง เช่น เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข เครื่องนับจำนวน เครื่องนับธนบัตร รูปแบบการประมวลผลข้อมูลที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เป็นการประมูลผลด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน
ขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ
1. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดสอบ การทดลอง หรือในทางโปรแกรมอาจเป็นการรับข้อมูลจากผู้ใช้ เป็นต้น
2. การตรวจสอบข้อมูล เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ว่าถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
3. การประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ การประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ มี 3 ขั้นตอนคือ นำเข้าข้อมูล (Input) ประมวลผลข้อมูล (Process) และส่งออกข้อมูล (Output) เป็นสารสนเทศ แล้วอาจนำไปจัดเก็บเพื่อสามารถนำไปใช้งานได้โดยง่าย
สารสนเทศ (Information)
หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล โดยการรวบรวม คำนวณ เปรียบเทียบ เรียงลำดับ การสรุปผล เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ที่ตรงความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ และมีความน่าเชื่อถือ เช่น รายงาน แผนภูมิ อินโฟกราฟิกส์ (Info Graphics) เป็นต้น
ให้นักเรียนสำรวจข้อมูลเพื่อน ได้แก่ ชื่อเพื่อน , วัน เดือน ปี เกิด , น้ำหนัก และส่วนสูง แล้วบันทึกในตารางบันทึกข้อมูลเพื่อน
ให้นักเรียนประมวลผลข้อมูล โดย เรียงลำดับคนที่มีน้ำหนักน้อยที่สุดไปหาคนที่มีน้ำหนักมากที่สุด
ให้นักเรียนประมวลผลข้อมูล โดย เรียงลำดับคนที่มีส่วนสูงน้อยที่สุดไปหาคนที่มีส่วนสูงมากที่สุด
ให้นักเรียนประมวลผลข้อมูล โดย คำนวณหาอายุเพื่อนจาก วัน เดือน ปี เกิด
ให้นักเรียนประมวลผลข้อมูล โดย เรียงลำดับคนที่มีอายุน้อยที่สุดไปหาคนที่มีอายุมากที่สุด
ตารางบันทึกข้อมูลเพื่อน
ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการจัดการข้อมูลมากมายให้เราได้เลือกใช้ ซึ่งมีทั้งแบบฟรี (free ware) แบบกำหนดระยะเวลาใช้งาน (share ware) และแบบที่ต้องเสียเงินซื้อ (license program)
ทั้งนี้ยังมีซอฟแวร์แบบออฟไลน์ (offline) หมายถึงโปรแกรมที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เช่น โปรแกรม Microsoft Office 2016 ซอฟแวร์แบบออนไลน์ (online) หรือเรียกว่า ซอฟต์แวร์บนคลาวด์ (cloud-based service) เป็นซอฟแวร์ที่ต้องใช้การเชื่อมต่ออินเตอร์อินเทอร์เน็ตจึงจะสามารถใช้งานได้ มีข้อดีคือ มีลักษณะการทำงานแบบเรียลไทน์ เราสามารถบันทึกข้อมูลของเราไว้บนคลาวด์ได้ สามารถเปิดหรือใช้งานในคอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ได้ หรือสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ยังสามารถแบ่งปันและใช้งานร่วมกันกับผู้อื่นที่เราต้องการได้อีกด้วย
cloud computing
เป็นลักษณะของการทำงานของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ให้บริการใดบริการหนึ่งกับผู้ใช้ โดยผู้ให้บริการจะแบ่งปันทรัพยากรให้กับผู้ต้องการใช้งานนั้น การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ เป็นลักษณะที่พัฒนาขึ้นต่อมาจากความคิดและบริการของเวอร์ชัวไลเซชันและเว็บเซอร์วิซ โดยผู้ใช้งานนั้นไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเชิงเทคนิคสำหรับตัวพื้นฐานการทำงานนั้น
Google Drive
เป็นบริการ Online Service ประเภท Cloud Technology ที่ให้ผู้ใช้สามารถจัดเก็บข้อมูล ไฟล์เอกสาร ไฟล์รูปภาพ หรือไฟล์ประเภทต่าง ๆ ลงไปได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (จะต้องสมัคร Gmail ก่อน) ผู้ใช้จะสามารถเปิดดูไฟล์ต่าง ๆ นั้นที่ใดก็ได้บนอุปกรณ์ต่าง ๆ และยังสามารถเชิญผู้ใช้อื่น ๆ เข้ามาดูไฟล์ของคุณได้ทางGmail โดยการใช้ฟรีนั้น จะมีเนื้อที่ให้จัดเก็บถึง 15 GB ซึ้งถือว่ามีเนื้อที่มากพอสมควรสำหรับผู้ใช้ทั่วไป แต่ถ้าหากต้องการเนื้อที่เพิ่มเติมมากกว่านั้น สามารถทำได้โดยการเสียค่าบริการรายเดือน หรือรายปี
Google Apps for Education คือ ชุดโปรแกรมต่างๆของ google มีลักษณะการทำงานแบบเรียลไทม์ ออนไลน์บนระบบคลาวด์ เปิดให้สถาบันการศึกษาใช้สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเสริม ประกอบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ประกอบด้วย
1.google classroom การสร้างห้องเรียนออนไลน์
2.gmail บริการอีเมล์
3.google drive พื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์
4.google calendar ปฏิทิน
5.google docs แอพพลิเคชั่นทำงานเอกสาร
6.google sheet แอพพลิเคชั่นรูปแบบตารางคำนวณ
7.google slide แอพพลิเคชั่นสำหรับนำเสนอ
8.google site แอพพลิเคชั่นสร้างเว็บไซต์
11.google form การสร้างฟอร์มแบบสอบถาม การสร้างแบบฝึกหัด ชุดข้อสอบต่างๆ
ชุดโปรแกรม Microsoft Office 365 เป็นชุดโปรแกรมของบริษัท Microsoft มีซอฟแวร์ให้เลือกใช้เหมือน Office 2016 แต่ต่างกันที่ Office 365 เป็นการทำงานและเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ไว้บนระบบคลาวด์
ชุดโปรแกรม Microsoft Office 2016 เป็นชุดโปรแกรมของบริษัท Microsoft มีลักษณะการทำงานแบบออฟไลน์ ประกอบด้วย
1. Microsoft Word ซอฟแวร์ประมวลผล ทำงานเกี่ยวกับการพิมพ์และจัดการเอกสาร
2. Microsoft Excel ซอฟแวร์ตารางคำนวณ ทำงานเกี่ยวกับการประมวณผลข้อมูล เช่น คำนวณ เรียงลำดับ
3. Microsoft PowerPoint ซอฟแวร์นำเสนอ ใช้สร้างงานนำเสนอในรูปแบบมัลติมีเดีย
4. Microsoft Outlook ซอฟแวร์สำหรับส่งอีเมล์
5. Microsoft Publisher ซอฟแวร์สำหรับสร้างงานสื่อสิ่งพิมพ์
6. Microsft Onenote ซอฟแวร์สำหรับสร้างตารางนัดหมาย จดบันทึก
7. Microsoft Acess ซอฟแวร์ฐานข้อมูล
1. ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำ (Word Processing Software)
เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการพิมพ์เอกสาร และจัดรูปแบบเอกสารตามที่เราต้องการ ซอฟแวร์ประมวลผลคำที่นิยมในปัจจุบัน แบบออฟไลน์ ได้แก่ Microsoft Word 2013, 2016 ในชุดโปรแกรม Microsoft Office แบบออนไลน์ ได้แก่ Microsoft Word ในชุดโปรแกรม Office 365 , Google Doc ในชุดเครื่องมือ Google App for Education
2. ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน (Spreadsheet Software)
เป็นซอฟต์แวร์ในรูปแบบตาราง มีจุดเด่นในการประมวลผลข้อมูล เช่น การคำนวณ เรียงลำดับ เป็นต้น สามารถสั่งให้คโปรแกรมประมวลผลตามสูตรหรือเงื่อนไขได้ และสามารถแสดงผลการเปรียบเทียบข้อมูลในรูปแบบแผนภูมิ แบบออฟไลน์ ได้แก่ Microsoft Excel 2013, 2016 ในชุดโปรแกรม Microsoft Office แบบออนไลน์ ได้แก่ Microsoft Excel ในชุดโปรแกรม Office 365 , Google Sheet ในชุดเครื่องมือ Google App for Education
3. ซอฟต์แวร์นำเสนอ (Presentation Software)
เป็นซอฟต์แวร์ที่มีจุดเด่นในการสร้างงานนำเสนอข้อมูล โดยสามารถแสดงข้อความ แผนภูมิ กราฟ ตาราง รูปแบบ เสียง และวิดีโอได้ ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ มีความน่าสนใจและมีความสวยงาม แบบออฟไลน์ ได้แก่ Microsoft PowerPoint 2013, 2016 ในชุดโปรแกรม Microsoft Office แบบออนไลน์ ได้แก่ Microsoft PowerPoint ในชุดโปรแกรม Office 365 , Google Slider ในชุดเครื่องมือ Google App for Education
*หมายเหตุ การใช้งานโปรแกรมต่างๆ นักเรียนจะได้เรียนในรายวิชา เทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1